วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การบริการสาธารณะ



การบริการสาธารณะคืออะไร
        เป็นกิจกรรมที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งมีทางเลือกหลายทางไม่ใช่เพียงการออกกฎระเบียบหรือให้งบประมาณไปดำเนินการ แต่เป็นบริการเพื่อคนจำนวนมาก เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน
        ภาครัฐมีการให้บริการแก่ประชาชนทั้งที่เป็นรายบุคคลและทั้งชุมชน โดยรัฐบาลกลาง ให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ท้องถิ่นให้บริการเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นของตน
        คุณภาพของการบริการเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรรัฐจึงจะประกันได้ว่าประชาชนได้รับบริการที่ดี การเน้นที่คุณภาพจะมีความหมายมากกว่าการเน้นปริมาณ การดำเนินการศึกษาความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับการบริการนั้น เพราะประชาชนถือว่าพวกเขามีส่วนในการบริการนั้น มิใช่เพียงผู้รับบริการฝ่ายเดียว
        มีวิธีการมากมายที่นำมาสู่การปรับปรุงการให้บริการสาธารณะโดยเน้นที่การบริการที่มีคุณภาพในรูปแบบของความคุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปมุ่งที่ประสิทธิภาพของการบริการกับเรื่องของการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและการมีทางเลือกให้กับประชาชนที่เป็นลูกค้าของการให้บริการสาธารณะนั้น ๆ เพราะการบริการสาธารณะเป็นการทำงานของรัฐที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยเฉพาะเป็นการไม่มุ่งหวังกำไรแต่อย่างใด
        หลักการในการดำเนินการยกระดับการให้บริการสาธารณะให้เกิดผล
        ในการดำเนินการยกระดับการให้บริการสาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ดำเนินการต้องยึดหลักการเพื่อให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จ คือ
  • การผูกมัดที่จะทำและกำหนดไว้เป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงาน
  • ความชัดเจน ความเข้าใจตรงกันในวัตถุประสงค์เป้าหมาย
  • การเข้าถึงเพื่อแน่ใจว่าคนพื้นฐานต่างกัน สามารถเข้าถึงกิจกรรมนี้ได้
  • เคารพซึ่งกันและกัน และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ความรับผิดชอบ
  • การร่วมมือกัน
  • ความไว้วางใจกัน
  • การบูรณาการ การคิดเป็นองค์รวม
        บริการสาธารณะเป็นกิจการที่ดำเนินการเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก การดำเนินการหากไม่ใช่รัฐเป็นผู้ดำเนินการก็อาจเป็นนิติบุคคลอื่นที่ได้รับไปดำเนินการโดยการมอบหมายให้นิติบุคคลอื่นเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะมีรูปแบบสำคัญ 4 รูปแบบ คือ
(1) สัมปทานเป็นรูปแบบที่ผู้รับสัมปทานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดให้มีบริการสาธารณะ
(2) การมอบหมายให้เอกชนบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐมอบหมายให้เอกชนรับไปดำเนินการในสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยให้เอกชนบริหารทรัพย์สินโดยได้รับค่าตอบแทน
(3) การว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้บริหารกิจการบริการสาธารณะแทนรัฐเป็นรูปแบบที่รัฐมอบหมายให้เอกชนเข้ามาจัดทำบริการสาธารณะโดยได้รับค่าตอบแทนที่กำหนดไว้ชัดเจนตายตัวและบวกกับแรงจูงใจซึ่งเป็นผลกำไรที่จะได้จากผลงานของกิจการนั้น
(4) การจ้างผู้จัดการบริหารงานแทนมีรูปแบบคล้ายกับรปแบบข้างต้น แต่ผู้บริหารจัดการจะได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายเหมือนกับลูกจ้างในฐานะผู้บริหารโครงการ
        ดังนั้น ในการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานโดยนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่รัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งรัฐก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และการจะให้นิติบุคคลใดรับไปจัดการบริการสาธารณะรัฐย่อมพิจารณาแล้วว่า นิติบุคคลนั้นต้องมีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ

ความหมาย"การพัฒนาชุมชน"

ความหมายของชุมชน” (Community)
ชุมชนเป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ   อาจเป็นหมู่บ้าน ละแวก หรือย่าน ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน มีความเชื่อในระบบคุณค่าบางอย่างสอดคล้องกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีความเอื้ออาทร มีการจัดการ มีการเรียนรู้และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน   หรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมา จากการประกอบอาชีพร่วมกัน   หรือ การประกอบกิจกรรมร่วมกัน   หรือ การมีวัฒนธรรม   หรือ ความสนใจร่วมกัน

ความหมายของการพัฒนา” (Development)
 
การพัฒนาคือ การทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น เป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ   การพัฒนาอาจพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้

ความหมายของการพัฒนาชุมชน” (Community Development) 
การพัฒนาชุมชนเป็นการทำให้กลุ่มคนดีขึ้น เจริญขึ้น ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน
 
เป้าหมายของการพัฒนาชุมชน คือคน ซึ่งเป็นกลุ่มอันหลากหลาย กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ   เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชนเมือง เป้นกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มกิจกรรม ฯลฯ   กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ   เราเห็นพ้องกันว่าการพัฒนาคน เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง   การพัฒนาคนจึงเป็นเป้าหมายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐๒๕๔๔) และต่อใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๔๕๒๕๔๙)   รากฐานของประเทศดีขึ้น เจริญขึ้นในทุก ๆ ด้าน   ประเทศชาติก็ดีขึ้น เจริญขึ้น เป็นสังคมพัฒนา   สังคมพัฒนาดี สมาชิกในสังคมย่อมได้รับผลพวงของการพัฒนา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน   การเล็งเป้าการพัฒนาไปที่คน ก็คือการเล็งเป้าไปที่ชุมชน จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องพัฒนาคนเองด้วย เหมือนตนเองเป็นชุมชนหนึ่ง   องค์กรทั้งหลายก็ต้องพัฒนาตนเองเช่นเดียวกัน เพราะองค์กรก็มีความเป็นชุมชนด้วย   ถ้าเราจินตนาการว่าคนเหมือนเซล (cell) ของประเทศ (ร่างกาย)   เซลทุกเซลได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดี ทำให้พัฒนา   ประเทศชาติหรือสังคมไทยเราจะเป็นอย่างไร ลองจินตนาการต่อไป   เพราะฉะนั้น เป้าหมายของประเทศ หรือสังคม จึงต้องพัฒนาคนหรือชุมชน 

www.msu.ac.th